GULF เข้าลงทุนในกองทุน LCI Fund สะท้อนความมุ่งมั่นในการรุกธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและการลงทุนที่ยั่งยืน

10 สิงหาคม 2565
GULF เข้าลงทุนในกองทุน LCI Fund
สะท้อนความมุ่งมั่นในการรุกธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและการลงทุนที่ยั่งยืน
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ส่งบริษัทย่อย Gulf International Investment (Hong Kong) Limited (Gulf HK) ที่บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ลงนามในสัญญาลงทุน (Subscription Agreement) เพื่อเข้าลงทุนในกองทุน Lightrock Climate Impact Fund SCSp (LCI Fund) วงเงิน 75 ล้านยูโร หรือประมาณ 2.7 พันล้านบาท โดยกองทุนดังกล่าวเน้นลงทุนด้าน ESG มีกำหนดอายุกองทุนประมาณ 10 ปี และมีระยะเวลาลงทุน 5 ปี ซึ่งจะทยอยเรียกชำระทุนภายในระยะเวลาลงทุนดังกล่าว

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กองทุน LCI Fund มุ่งลงทุนในบริษัทที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมและมีการเติบโตเร็วในยุโรป รวมถึงมีการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยอย่างชัดเจน เนื่องจากยุโรปได้จัดสรรเงินทุนมหาศาล พร้อมแผนการลงทุนที่จะขับเคลื่อนจากยุคพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ GULF ที่มุ่งลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนและการจัดการสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศทั่วโลกในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี 2050 ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการให้ผลตอบแทนที่ดีอีกด้วย

LCI Fund ถือเป็นกองทุน Private Equity ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท Lightrock ที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยราชวงศ์แห่งลิกเตนสไตน์ และ LGT ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจธนาคารและการจัดการสินทรัพย์ชั้นนำของโลกในด้านธนบดีธนกิจ (Private Banking) และการจัดการสินทรัพย์ (Asset Management) โดยกองทุนมีนโยบายการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เน้นการแก้ปัญหาโลกร้อนภายใต้บริบทของการดำเนินธุรกิจตามหลักสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG: environmental, social, governance) อาทิเช่น 1) การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เช่น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 2) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรม (Decarbonizing Industries) เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอน และกระบวนการอุตสาหกรรมสีเขียว 3) การขนส่งที่ยั่งยืน (Sustainable Transportation) 4) อาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน (Sustainable Food and Agriculture) 5) การนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ (Enabling Technologies and Solutions) เช่น บริการที่ปรึกษาสำหรับการพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ภาพประกอบอื่น ๆ